หลักการและเหตุผล

          จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา โดยเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก
ที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และศักยภาพในการแข่งขันของประเทศด้วยการส่งเสริมกระบวนการการผลิตสินค้า และการบริการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ได้มีมติ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เนื่องจากมีความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก รวมทั้งอยู่ในระยะที่สามารถเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครและส่วนอื่นของประเทศได้โดยสะดวกทำให้ชุมชนบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบ
และนำปัญหาบางประการมาสู่พื้นที่ อาทิ ความขัดแย้งในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติ การขยายพื้นที่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น รวมถึงปัญหาภัยพิบัติที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่และชีวิต
ความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด นอกจากนี้ เพื่อให้ก้าวทันแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาประเทศ
ในอนาคต ภายใต้นโยบายของรัฐในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ประเทศ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัย
รวมไปถึงการเตรียมท้องถิ่นและชุมชนให้มีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่
วิถีชีวิตของสังคมเมืองที่มีแนวโน้มในการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็น ต้องมีการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนบ้านโพธิ์ เนื่องจากการวางและจัดทำผังเมืองรวมเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง
และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสุขลักษณะ
ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม เพื่อส่งเสริมการเศรษฐกิจสังคมและสภาพแวดล้อม เพื่อดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่
และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีหรือ
เพื่อบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่งดงาม หรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ

          การที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่ โดยมีเมืองที่กำลังพัฒนาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการที่จะต้องเร่งดำเนินการวางและจัดทำ
ผังเมืองรวมในบริเวณชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง ไม่ให้เติบโตและพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ประกอบกับมีผังเมืองรวมเมืองที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการไปแล้ว
และต้องดำเนินการปรับปรุงผังฯ อีกเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมืองมีภารกิจ
หลายด้านที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การจ้างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมือง/ชุมชนจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของกรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมเมือง/ชุมชนสามารถดำเนินการได้ทันกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป